พระอาจารย์ใหญ่
พระอาจารย์ใหญ่พะอ๊อก ตอยะสยาดอ
อัครมหากัมมัฎฐานาจริยะ
พระอาจารย์ใหญ่มีฉายาว่า อาจิณณะ แต่ชาวเมียนมาร์มักเรียกท่านว่า พะอ๊อก ตอยะสยาดอ ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน และพระอาจารย์ใหญ่ที่วัดพะอ๊อก ตอยะ
(คำว่าสยาดอเป็นภาษาเมียนมาร์ หมายถึงพระอาจารย์โดยเป็นการเรียกด้วยความเคารพ)
พระอาจารย์ใหญ่ถือกำเนิดปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่หมู่บ้านเล็กฌอง เมืองฮินตะคะ อยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ราว ๑๖๐ กม. ท่านบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ (เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี) ที่วัดในหมู่บ้านของท่าน ๑๐ ปี ที่เป็นสามเณรได้ศึกษาพระไตรปิฎกจากคณาจารย์ต่างๆ ท่านเรียนเก่งผ่านการสอบบาลีตั้งแต่ยังเป็นสามเณร
พระอาจารย์ใหญ่อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้ศึกษาพระไตรปิฎกอย่างต่อเนื่อง กับพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิ ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ ท่านสอบผ่านธัมมาจริยะเทียบเท่ากับศิลปะศาสตร์บัณฑิต สาขาบาลีพุทธศาสตร์ หรือเปรียญธรรมเก้าประโยค และได้เป็นพระธรรมมาจารย์
ในช่วง ๘ ปีต่อมา พระอาจารย์ใหญ่ได้จาริกไปทั่วประเทศเมียร์มาร์เพื่อศึกษาพระธรรมเพิ่มเติมจากพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พรรษาที่ ๑๐ ท่านเริ่มต้นปฏิบัติธุดงควัตร “อารัญญิกังคะ” (องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร อยู่ห่างจากบ้านคน ๕๐๐ ชั่วธนู หรือ ๒๕ เส้น) และมุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐานอย่างจริงจังโดยค้นคว้าทั้งจากพระไตรปิฎก และคำแนะนำจากพระกัมมัฏฐานาจารย์ผู้เป็นที่เคารพหลายท่านในยุคนั้น
หลังจากนั้น ท่านยังคงปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าบริเวณรัฐมอญทางใต้ของประเทศเมียร์มาร์ ในเขตอำเภอมุโด่งเป็นเวลา ๓ ปี และในป่าเขตเมืองเย้ (ราว ๑๖๐ กม. ริมฝั่งทะเลทางตอนใต้) เป็นเวลา ๑๓ ปี ในช่วงเวลา ๑๖ ปีนี้ ท่านใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย อุทิศเวลาทั้งหมดในการปฏิบัติธรรมประกอบการค้นคว้าจากพระไตรปิฎก
ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ พระอาจารย์ใหญ่ได้รับข่าวจากท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อนแห่งวัดพะอ๊อก ตอยะ (ท่านอัคคปัญญะ) ซึ่งใกล้จะมรณภาพ ได้ขอร้องให้พระอาจารย์ใหญ่อาจิณณะรับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อ หลังจากนั้นเพียง ๕ วัน ท่านอัคคปัญญะก็มรณภาพ เมื่อท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ จึงได้รับการขนานนามว่า “พะอ็อก ตอยะสยาดอ” แม้ว่าท่านต้องดูแลบริหารจัดการวัด ท่านยังใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติธรรมที่กุฏิไม้ไผ่ ซึ่งอยู่บริเวณที่เงียบสงบในป่าด้านทิศเหนือของวัด ซึ่งเป็นแนวเทือกเขาตองโยว ในเวลาต่อมาเรียกบริเวณนี้ว่า วัดจิตรบรรพต หรือ วัดบน
ในพ.ศ. ๒๕๔๐ พระอาจารย์ใหญ่จัดพิมพ์มรดกทางธรรมที่งดงามยิ่งทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ ชื่อว่า “นิพพานคามินีปฏิปทา” ประกอบด้วยหนังสือขนาดใหญ่จำนวน ๕ เล่ม อธิบายวิธีการปฏิบัติธรรมตามลำดับ จากขั้นต้นถึงขั้นสูงสุดโดยละเอียด ด้วยเอกสารอ้างอิงจากพระไตรปิฏก ขณะนี้จัดพิมพ์แล้ว ๒ ภาษาคือ ภาษาสิงหลและภาษาเมียนมาร์
ส่วนงานเขียนหนังสือภาษาอังกฤษของพระอาจารย์ใหญ่ ได้แก่
1. Knowing and Seeing
2. The Workings of Kamma
3. Meditation Manuals (Mindfulness of Breathing, Ten Kasina, Four Elements Meditation, Discerning Materiality, Discerning Mentality, Discerning Past & Future Lives/Patice casamuppada, Vipassana, etc.) ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการแปลเป็นภาษาไทย
และหนังสือเล่มอื่นๆ อีกมากมาย
วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๒ พระอาจารย์ใหญ่ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลเมียนมาร์ให้เป็น “อัครมหากัมมัฏฐานาจริยะ” หมายถึง พระอาจารย์กัมมัฏฐานผู้ได้รับความเคารพอย่างสูง
พระอาจารย์ใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ชำนาญมาก ท่านมักจาริกไปแสดงธรรมและสอนกัมมัฏฐานในประเทศต่างๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ท่านได้นำสอนกัมมัฏฐานที่สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ศรีลังกา มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ท่านได้นำสอนกัมมัฏฐานหลักสูตรระยะยาวที่สหรัฐอเมริกา ใน ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ท่านจาริกไปบำเพ็ญสมณธรรมที่เทือกเขาหิมาลัยประเทศอินเดีย และ สาขาวัดพะอ๊อก ศรีลังกา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ท่านได้นำสอนกัมมัฏฐานที่ไต้หวัน สิงคโปร์ เยอรมันนี สหรัฐอเมริกา เกาหลี และ อินโดนีเซีย